เค็มอีกนิด
ชีวิตเปลี่ยน
โรคไตเรื้อรัง
โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease, CKD) หมายความว่าไตของท่านถูกทำลายและไม่สามารถกรองเลือดได้ตามปกติ และเป็นโรค “เรื้อรัง” เนื่องจากการทำลายที่ไตของท่านเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เป็นระยะเวลานาน การทำลายนี้อาจทำให้เกิดของเสียสะสมในร่างกาย นอกจากนี้ โรคไตเรื้อรังยังเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อีกด้วย
สาเหตุของการเกิดโรคไตเรื้อรัง
1. โรคเบาหวาน : โรคเบาหวานเป็นสาเหตุหลักของโรคไตเรื้อรัง ระดับกลูโคสในเลือดสูงหรือที่เรียกว่าน้ำตาลในเลือดจากโรคเบาหวานสามารถทำลายหลอดเลือดที่ไตของท่านได้ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน 1 ใน 3 รายเป็นโรคไตเรื้อรัง
2. ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุอันดับที่สองของโรคไตเรื้อรัง เช่นเดียวกับระดับกลูโคสในเลือดสูง ภาวะความดันโลหิตสูงยังสามารถทำลายหลอดเลือดที่ไตของท่านได้เช่นกัน เกือบ 1 ใน 5 รายของผู้ใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูงเป็นโรคไตเรื้อรัง
3. โรคหัวใจ การวิจัยระบุความเชื่อมโยงระหว่างโรคไตและโรคหัวใจ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจมีความเสี่ยงเป็นโรคไตสูงกว่า และผู้ที่เป็นโรคไตมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจสูงกว่า นักวิจัยกำลังทำงานเพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างโรคไตและโรคหัวใจได้ดีขึ้น
4. ประวัติครอบครัวมีภาวะไตล้มเหลว หากบิดา มารดา พี่สาวน้องสาว หรือพี่ชายน้องชายของท่านมีภาวะไตล้มเหลว ท่านมีความเสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรัง โรคไตมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในครอบครัว หากท่านเป็นโรคไต สนับสนุนให้สมาชิกในครอบครัวเข้ารับการตรวจ ท่านอาจใช้เคล็ดลับจาก คู่มือ family health reunion[TPT1] และพูดคุยกับครอบครัวของท่านในช่วงรวมญาติเนื่องในโอกาสพิเศษ
อาการสำคัญของโรคไตเรื้อรัง
โรคไตเรื้อรังระยะแรกอาจไม่แสดงอาการใด ๆ
ท่านอาจแปลกใจว่าท่านเป็นโรคไตเรื้อรังและยังรู้สึกเป็นปกติดี ไตของเราสามารถทำงานได้มากกว่าความสามารถปกติเพื่อให้เรายังคงมีสุขภาพดี ตัวอย่างเช่น ท่านสามารถบริจาคไตหนึ่งข้างและยังคงมีสุขภาพที่ดีได้ นอกจากนี้ ไตของท่านอาจถูกทำลายโดยไม่แสดงอาการใด ๆ เนื่องจากไตของท่านยังคงทำงานได้เพียงพอเพื่อให้ท่านรู้สึกเป็นปกติ แม้ว่าจะถูกทำลายก็ตาม สำหรับหลาย ๆ คน วิธีเดียวที่จะทราบว่าท่านเป็นโรคไตหรือไม่คือเข้ารับการตรวจไตด้วยการตรวจเลือดและปัสสาวะ
ในขณะที่ไตแย่ลง ผู้ป่วยอาจมีอาการบวมที่เรียกว่า อาการบวมน้ำ อาการบวมน้ำเกิดขึ้นเมื่อไตไม่สามารถขจัดของเหลวและเกลือส่วนเกินได้ อาการบวมน้ำสามารถเกิดขึ้นได้ที่ขา เท้า หรือข้อเท้า รวมถึงมือหรือใบหน้าซึ่งพบได้น้อยกว่า
อาการของโรคไตเรื้อรังระยะลุกลาม
เจ็บหน้าอก
ผิวแห้ง
อาการคันหรือชา
รู้สึกเหนื่อย
ปวดศีรษะ
ปัสสาวะเพิ่มขึ้นหรือลดลง
เบื่ออาหาร
ตะคริวที่กล้ามเนื้อ
คลื่นไส้
หายใจลำบาก
ปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
ไม่มีสมาธิ
อาเจียน
น้ำหนักลด
การวินิจฉัยของโรคไตเรื้อรัง
แพทย์ของท่านจะพูดคุยเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวและประวัติครอบครัวกับท่าน ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกในการวินิจฉัยโรคไต สิ่งสำคัญที่สุด แพทย์ของท่านอาจถามคำถามว่าท่านได้รับการวินิจฉัยเป็นภาวะความดันโลหิตสูงหรือไม่ ท่านได้มีการใช้ยาที่อาจส่งผลต่อการทำงานของไตหรือไม่ ท่านได้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงการปัสสาวะของท่านหรือไม่ และท่านมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคไตหรือไม่
ลำดับถัดไป แพทย์ของท่านจะทำการตรวจร่างกาย ตรวจสอบอาการแสดงของปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือหลอดเลือดของท่าน และทำการตรวจระบบประสาท
ในขณะที่ไตแย่ลง ผู้ป่วยอาจมีอาการบวมที่เรียกว่า อาการบวมน้ำ อาการบวมน้ำเกิดขึ้นเมื่อไตไม่สามารถขจัดของเหลวและเกลือส่วนเกินได้ อาการบวมน้ำสามารถเกิดขึ้นได้ที่ขา เท้า หรือข้อเท้า รวมถึงมือหรือใบหน้าซึ่งพบได้น้อยกว่า
สำหรับการวินิจฉัยโรคไต ท่านยังอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจและขั้นตอนบางอย่าง เช่น:
1. การตรวจเลือด การตรวจการทำงานของไตเพื่อหาปริมาณของเสีย เช่น ครีเอตินีนและยูเรียในเลือดของท่าน
2. การตรวจปัสสาวะ การวิเคราะห์ตัวอย่างปัสสาวะของท่านอาจแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติที่บ่งชี้ถึงภาวะไตล้มเหลวเรื้อรังและช่วยระบุสาเหตุของโรคไตเรื้อรังได้
3. การตรวจด้วยภาพถ่าย แพทย์ของท่านอาจใช้อัลตร้าซาวด์ เพื่อประเมินโครงสร้างและขนาดไต และอาจใช้การตรวจด้วยภาพถ่ายวิธีอื่น ๆ ในบางกรณี
การเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อไตสำหรับการตรวจ แพทย์ของท่านอาจแนะนำให้ทำการเก็บชิ้นเนื้อเพื่อเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากไต การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อจากไตมักดำเนินการด้วยยาชาเฉพาะที่ โดยใช้เข็มที่บางและยาวแทงผ่านผิวหนังของท่านเข้าในเนื้อไต ตัวอย่างจากการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อช่วยระบุสาเหตุของโรคไต
การรักษาโรคไตเรื้อรัง
โรคไตบางชนิดสามารถรักษาได้ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นอยู่เดิม แม้ว่าบ่อยครั้งที่โรคไตเรื้อรังจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ก็ตาม โดยปกติแล้วการรักษาจะประกอบด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่ช่วยควบคุมอาการแสดงและอาการ ลดภาวะแทรกซ้อน และชะลอการดำเนินโรค หากไตของท่านถูกทำลายอย่างรุนแรง ท่านอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาสำหรับโรคไตระยะสุดท้าย
การรักษาภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคไตสามารถควบคุมได้เพื่อทำให้ท่านรู้สึกสบายมากขึ้น การรักษาอาจรวมถึง:
แพทย์ของท่านอาจแนะนำยาที่เรียกว่า ยาในกลุ่มสแตติน เพื่อช่วยลดคอเลสเตอรอลของท่าน ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังมักมีคอเลสเตอรอลไม่ดีอยู่ในระดับสูง ซึ่งสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้
ผู้ที่เป็นโรคไตอาจมีภาวะความดันโลหิตสูงแย่ลง แพทย์ของท่านอาจแนะนำยาที่ช่วยลดความดันโลหิต ซึ่งตามปกติมักเป็นยาในกลุ่มยับยั้งแองจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ตติ้ง เอนไซม์ (angiotensin-converting enzyme, ACE) หรือยาในกลุ่มปิดกั้นตัวรับแองจิโอเทนซิน II (angiotensin II receptor blockers) และยาที่ช่วยคงสภาพการทำงานของไต ยาลดความดันโลหิตสูงสามารถลดการทำงานของไตได้ในช่วงแรกและเปลี่ยนแปลงระดับอิเล็กโทรไลต์ ดังนั้นท่านจึงจำเป็นต้องรับการตรวจเลือดบ่อยครั้งเพื่อเฝ้าติดตามภาวะของท่าน นอกจากนี้ แพทย์ของท่านจะแนะนำยาขับน้ำ (ยาขับปัสสาวะ) และอาหารที่มีเกลือต่ำ
ในบางสถานการณ์ แพทย์ของท่านอาจแนะนำให้เสริมฮอร์โมนอิริโธรโพอิติน (อิ-ริ-โธร-โพ-อิ-ติน) และอาจให้ธาตุเหล็กเสริมในบางครั้ง การเสริมอิริโธรโพอิตินช่วยให้สร้างเม็ดเลือดแดงได้มากขึ้น ซึ่งอาจบรรเทาอาการเหนื่อยล้าและความอ่อนแรงที่เกิดจากภาวะโลหิตจางได้
ภาวะโลหิตจางเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในโรคไตเรื้อรัง (CKD) และสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ลดลง เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น และเร่งให้โรคไตเรื้อรังมีอัตราการดำเนินการโรคเร็วขึ้น ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ภาวะโลหิตจางหมายถึงสถานการณ์ที่ความเข้มข้นของฮีโมโกลบิน (hemoglobin, Hb) ในเลือดต่ำกว่าค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของ Hg เฉลี่ยจากประชากรทั่วไปที่ปรับแก้ค่าตามอายุและเพศอยู่ 2 เท่า
การรักษาโรคไตระยะสุดท้าย
หากไตของท่านไม่สามารถจัดการกับของเสียและขจัดของเหลวได้ด้วยตัวเอง และท่านอยู่ในภาวะไตล้มเหลวโดยสมบูรณ์หรือเกือบสมบูรณ์ ท่านเป็นโรคไตล้มเหลวระยะสุดท้าย ณ จุดเวลานั้น ท่านจำเป็นต้องรับการฟอกไตหรือปลูกถ่ายไต
การฟอกไตจำลองการนำของเสียและของเหลวส่วนเกินออกจากเลือดของท่าน เมื่อไตของท่านไม่สามารถทำหน้าที่เหล่านี้ได้อีกต่อไป ในการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เครื่องจะกรองของเสียและของเหลวส่วนเกินออกจากเลือดของท่าน ในการฟอกไตทางหน้าท้อง จะมีการสอดท่อขนาดเล็ก (สายสวน) เข้าไปในท้องของท่าน เติมน้ำยาล้างไตที่ดูดซับของเสียและของเหลวส่วนเกินเข้าในช่องท้องของท่าน หลังจากเวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง จึงปล่อยน้ำยาล้างไตที่นำของเสียออกจากร่างกายท่าน
การปลูกถ่ายไตเกี่ยวข้องกับการผ่าตัดเปลี่ยนไตที่มีสุขภาพดีจากผู้บริจาคอวัยวะเข้าไปในร่างกายของท่าน ไตที่ปลูกถ่ายอาจมาจากผู้ที่เสียชีวิตแล้วหรือผู้ให้อวัยวะที่มีชีวิตอยู่ ท่านจะจำเป็นต้องรับประทานยาตลอดชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายท่านปฏิเสธอวัยวะใหม่ เพื่อให้ได้รับการปลูกถ่ายไต ท่านไม่จำเป็นต้องเข้ารับการฟอกไต