โรคหัวใจขาดเลือด

โรคหัวใจขาดเลือด หรือ (lschemic heart disease)

บางคนเรียกว่าโรคหลอดแดงโคโรนารี มักพบมากในคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปี โรคนี้เกิดจากการที่ผนังด้านในของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจ และตับแข็งตัว เนื่องจากมีไขมันสะสมในผนังของหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดหัวใจค่อยๆ ตีบลงจนถึงอุดตัน ผู้สูงอายุทุกคนมักมีภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งเป็นความเสื่อมตามธรรมชาติ สำหรับวัยกลางคน (40 - 50 ปี) ก็อาจจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้ ยิ่งถ้าเป็นคนที่สูบบุหรี่ คนอ้วน คนที่เครียดง่าย ขาดการออกกำลังกาย จะยิ่งมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป อาการเบื้องต้น คือ การเจ็บแน่นที่หน้าอกและอาการเจ็บร้าวไปที่คอหรือขากรรไกร หากเป็นโรคหัวใจขาดเลือดแล้ว มักจะมีอาการเรื้อรัง ต้องเข้าพบแพทย์อยู่เสมอ แต่ถ้าในรายที่เป็นน้อย การดูแลตัวเองก็อาจจะทำให้ทุเลาลงได้

สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด

● อายุและเพศ ในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 45 ปี และในผู้หญิงอายุ 55 ปี โดยเพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง
● มีระดับไขมันในเลือดสูง
● เป็นโรคความดันโลหิตสูง
● เป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง เซลล์บุผนังหลอดเลือดจะทำงานผิดปกติ ผู้ที่เป็นเบาหวานจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือกหัวใจมากขึ้น
● การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว หรือโคเลสเตอรอลสูง เช่น ไขมันสัตว์ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง หอยนางรม ปลาหมึก และกุ้ง หรืออาหารที่มีกากใยอาหารน้อยเกินไป
● ขาดการออกกำลังกาย
● ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือมีภาวะน้ำหนักเกิน
● สูบบุหรี่ ดื่มสุรา
● มีประวัติญาติหรือบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดแดงอุดตันหรือโรคหัวใจขาดเลือด

อาการของโรคหัวใจขาดเลือด

● ปวดที่ตำแหน่งยอดอก หรือ ลิ้นปี่ เจ็บตรงหน้าอกซีกซ้ายตำแหน่งหัวใจ
● มีลักษณะปวดแบบจุกๆ เหมือนถูกบีบ หรือถูกของกดทับ และมีอาการปวดร้าวขึ้นไปถึงคอ ขากรรไกร หัวไหล่หรือต้นแขน ขณะมีอาการมักจะมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย
● ระยะเวลาปวดจะเกิดครั้งละ 2-3 นาที อย่างมากไม่เกิน 15 นาที นั่งพักสักครู่ก็จะหายได้เอง
● อาการเหล่านี้สามารถกระตุ้นได้จาก การทำงานหนัก ออกกำลังกายมากเกินไป มีเพศสัมพันธ์หรือ การมีอารมณ์โกรธ โมโห ตื่นเต้น ตกใจ หรือแม้แต่การกินข้าวอิ่ม หรือหลังจากการอาบน้ำเย็น หรือถูกอากาศเย็นก็ได้

การรักษาโรคหัวใจขาดเลือด

  • ยาเพื่อป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือดกับผนังของหลอดเลือดแดง
  • ยาเพื่อช่วยลดอาการเจ็บหน้าอก
  • ยาเพื่อใช้ละลายลิ่มเลือด
  • ยาอื่นๆ ที่ใช้รักษาภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ยาขับปัสสาวะ ยาที่ใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ยาพวกนี้ถ้าจะใช้ก็ต่อเมื่อมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นเท่านั้น
  • รักษาด้วยการขยายเส้นเลือดหัวใจโดยบอลลูน
  • การรักษาโดยการผ่าตัดต่อเส้นเลือดหัวใจใหม่

การป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด

1. งดการสูบบุหรี่ และลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

2. อย่าปล่อยให้ตัวเองอ้วน รักษาน้ำหนักและสุขภาพอยู่เสมอ

3. ลดอาหารที่มีไขมันสูง กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำตาล ของหวาน เพิ่มการกินผักและผลไม้ให้มากๆ

4. ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วัน ต่อสัปดาห์

5. ลดภาวะความเครียดทางอารมณ์ ฝึกสมาธิเพื่อความผ่อนคลาย

6. ตรวจร่างกายประจำปี โดยหากมีประวัติญาติหรือบุคคลในครอบครัว เป็นโรคหัวใจขาดเลือด ควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี และประเมินโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

7. ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือมีระดับไขมันในเลือดสูงต้องติดตามรักษากับแพทย์จะช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดหรือภาวะแทรกซ้อนได้

ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข