โรคความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง หมายถึง ภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงความดันในหลอดเลือดที่สูงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันแพทย์วินิจฉัยว่าในภาวะปกติผู้ที่มีความดันเท่ากับหรือมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท เป็นผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หากปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่ในระดับนี้นานๆ อาจทำให้อวัยวะต่างๆในร่างกายเสื่อม เช่น มีโอกาสเป็นโรคหัวใจตีบตัน 3-4เท่า และโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน 7 เท่าของผู้ที่มีความดันปกติ และถ้าปล่อยทิ้งไว้ความดันจะเพิ่มขึ้นทุกๆ 10 มิลลิเมตรปรอทต่อปี

ชนิดของโรคความดันโลหิตสูง

1. ชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ กรรมพันธุ์หรือสิ่งแวดล้อม โดยส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยส่งเสริม เช่น ภาวะอ้วน เบาหวาน ทานอาหารเค็ม ดื่มสุรา สูบบุหรี่ เครียด เป็นต้น
2. ชนิดที่ทราบสาเหตุ เป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นผลมาจาก ที่เป็นโรคอื่นมาก่อนและมักต้องรักษาโรคที่เป็นสาเหตุด้วย เช่น เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไตตีบ หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบในส่วนของช่องอก รวมถึงผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง

ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
1. กรรมพันธุ์ จากการสำรวจความถี่ในการเกิดโรค พบว่า ผู้ที่มีพ่อแม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง มีโอกาสและความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่า
2. เพศและอายุ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย มีข้อมูลบ่งบอกว่า พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในช่วงก่อนอายุ 50 ปี แต่เมื่ออายุเลย 50 ปี ผู้หญิงจะมีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีฮอร์โมนเอสโทรเจนลดลง ซึ่งมีผลต่อความยืดหยุ่นของเส้นเลือด ส่วนในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พบความดันโลหิตสูงเท่ากันทั้ง 2 เพศ

ปัจจัยที่ควบคุมได้
1. อ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน
2. ไขมันในเลือดสูง
3. ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
4. กินเค็มเป็นประจำ
5. ขาดการออกกำลังกาย
6. มีภาวะดื้ออินซูลินหรือเป็นเบาหวาน

ภาวะโรคความดันโลหิตสูง เปรียบเหมือนฆาตกรเงียบ หากความดันสูงเล็กน้อยหรือปานกลาง มักไม่มีอาการเตือนให้รู้ตัว แต่สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมาก อาจมีอาการเหล่านี้ได้ เช่น ปวดศีรษะตุบๆบริเวณท้ายทอย เวียนศีรษะตอนตื่นนอนใหม่ๆ ตาพร่ามัว มีเลือดกำเดาไหล เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก

การป้องกัน

1. การลดน้ำหนัก

2. การลดปริมาณเกลือในอาหาร

3. การงดหรือลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

4. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

5. ไม่เครียด รู้จักปล่อยวาง

ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง อยู่นานจะเกิดอะไรขึ้น

ถ้าคุณมีภาวะความดันโลหิตสูงและปล่อยให้ตนเองมีค่าความดันสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอทเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมหรือต่อเนื่อง อีกทั้งควบคุมไม่ได้จนกระทั่งเกินกว่า 160/100 มิลลิเมตรปรอท ในที่สุดอาจเกิดหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน โรคเลือดสมอง ไตวาย และหัวใจวาย

ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

คลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

อาคารตึกหลังเก่า
8.00-16.00 น
โทร. 053-795259 ต่อ 131

รายละเอียดเพิ่มเติม

คลินิกโรคความดันโลหิต :

ให้บริการทุกวันจันทร์และพฤหัสบดี
เวลา 8.00-16.00 น

ตรวจสุขภาพประจำปีของกลุ่มโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง :

ให้บริการทุกวันศุกร์
เวลา 8.00-16.00 น
หมายเหตุ : นัดมาจาก รพ.สต.