โรคซึมเศร้า (Depression)
โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอารมณ์ซึมเศร้าอย่างรุนแรง โดยไม่มีสาเหตุอารมณ์ซึมเศร้า อาจเริ่มต้นจากน้อยๆ ไปหามาก ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์ไม่แจ่มใส หดหู่ เศร้าหมอง มีทุกข์ จนถึงเบื่อหน่าย ท้อแท้ เบื่อชีวิต คิดว่าตนเองไร้ค่า คิดอยากตาย และอาจจะฆ่าตัวตายได้ ผู้ป่วยจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ผอมลง เซื่องซึม นอนไม่หลับ ขาดสมาธิ ความจำเสื่อม เหนื่อยง่าย เพลีย ไม่มีแรง เบื่องาน หรือเบื่อกิจกรรมที่เคยทำแล้วสนุก ความรู้สึกทางเพศจะลดลงจนหมดไป การเบื่อสังคมอาจแสดงออกด้วยการเก็บตัว แยกตัว เซื่องซึม ขาดความมั่นใจในตนเอง เครียดง่าย กังวลง่าย มองโลกในแง่ร้าย ไม่เห็นทางแก้ไขปัญหา
โรคซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรงมาก อาจเกิดอาการโรคจิตร่วมด้วย เช่น มีอาการหลงผิด หรือหูแว่ว โรคนี้มักเกิดในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น จนถึงวัยกลางคน เกิดได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องมีความเครียดเป็นสาเหตุ เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีอันตรายเนื่องจากผู้ป่วยอาจฆ่าตัวตายได้ อย่างไรก็ตามโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้ผลดีมาก การใช้ยาร่วมกับจิตบำบัด จะช่วยให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายเป็นปกติเหมือนเดิม เมื่อหายแล้ว แพทย์จะให้รับประทานยาป้องกันต่ออีกประมาณ 6-12 เดือน ไม่ควรหยุดยาเองเด็ดขาด เพราะอาจทำให้มีอาการอีกได้ง่าย
สาเหตุ
1. โรคซึมเศร้ามีสาเหตุมาจากปัจจัยรวมๆ ทางด้านจิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม และชีวภาพ
2. โรคซึมเศร้ามักเกิดตามหลังความผิด หรือการสูญเสียจากพราก เช่น บุคคลที่รักตายจาก คนรักตีจาก ความกดดันด้านสังคม การเรียน การงาน หรือการเงิน สภาพชีวิตที่โดดเดี่ยวว้าเหว่ ขาดความรักความอบอุ่น เป็นต้น
3. โรคซึมเศร้ามิได้เกิดจากสภาพจิตใจที่เปราะบาง อ่อนแอ อย่างที่เข้าใจกันผิดๆ หากแต่มีหลักฐานจากการวิจัยมาตลอด 20 ปีนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสมดุลย์ของสารเคมี ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมอง มีผลต่ออารมณ์ซึมเศร้าของคน โดยเฉพาะสารซีโรโทนิน นอร์เอปิเนฟรีน และโดปามีน
4. หากมีประวัติการเจ็บป่วยโรคนี้ในญาติ ก็เพิ่มการป่วยโรคนี้กับสมาชิกอื่นในบ้าน แต่ก็มิได้หมายความว่า จะเป็นกันทุกคน ปัจจัยที่กระตุ้นให้คนที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ มีโอกาสเกิดอาการก็คือ ความเครียด แต่ทั้งนี้คนที่ไม่มีญาติเคยป่วยก็อาจเกิดเป็นโรคนี้ได้ มักพบว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของระดับสารเคมี ที่เซลล์สมองสร้างขึ้นเพื่อรักษาสมดุลย์ของอารมณ์
5. สภาพจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดูก็เป็นปัจจัยที่เสี่ยงอีกประการหนึ่ง ต่อการเกิดโรคซึมเศร้าเช่นกัน คนที่ขาดความภูมิใจในตนเองมองตนเอง และโลกที่เขาอยู่ในแง่ลบตลอดเวลา หรือเครียดง่าย เมื่อเจอกับมรสุมชีวิต ล้วนทำให้เขาเหล่านั้นมีโอกาสป่วยง่ายขึ้น
6. หากชีวิตพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ต้องเจ็บป่วยเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น หรือต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ปรารถนา ก็อาจกระตุ้นให้โรคซึมเศร้ากำเริบได้
7. สาเหตุที่จะกระตุ้นการเกิดโรคซึมเศร้าที่พบบ่อยก็คือ การมีทั้งความเสี่ยงทางพันธุกรรม ทางสภาพจิตใจ ประจวบกับการเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย ร่วมกันทั้ง 3 ปัจจัย
อาการ
1. ภาวะอารมณ์ซึมเศร้าจากการปรับตัวไม่ได้กับปัญหาที่มากระทบ เป็นภาวะที่เกิดจากการปรับตัวไม่ได้กับปัญหาต่างๆ ที่เข้ามากระทบ เช่น ย้ายบ้าน ตกงาน เกษียน เป็นต้น โดยจะพบอาการซึมเศร้าร่วมด้วยได้ แต่มักจะไม่รุนแรง ถ้ามีคนมาพูดคุย ปลอบใจก็จะดีขึ้นบ้าง อาจมีเบื่ออาหารแต่เป็นไม่มาก ยังพอนอนได้ เมื่อเวลาผ่านไป ค่อยๆ ปรับตัวได้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ภาวะอารมณ์ซึมเศร้าที่มีก็จะทุเลาลง
2. ผู้ป่วยอาจเป็นประเภทที่มีอาการ 2 ขั้ว หรือขั้วเดียว ประเภทมีอาการสองขั้ว มีอาการแกว่งระหว่างขั้วหนึ่งที่มีอาการเฟื่อง กับอีกขั้วตรงข้ามที่มีอาการแฟบ หรือซึมเศร้า ช่วงเฟื่องสมองจะตื่นตัวคิดอะไรว่องไว อาจถึงขั้นอัจฉริยะ พูดเร็ว ทำเร็ว รุกรานผู้อื่น ใช้เงินมากอย่างไม่เสียดาย เจ้าตัวจะมีความสุข แล้วทำให้ผู้อื่นมีความทุกข์ เป็นอยู่พักหนึ่ง อาการจะแกว่งไปทางตรงข้ามคือแฟบ มีอาการซึมเศร้า กลัว วิตกกังวล ทำอะไรไม่ได้ ตัดสินใจไม่ได้ ของที่เคยทำได้ง่ายๆ ก็กลัวไม่กล้าทำ รู้สึกตัวเองมีความผิดเกินเหตุ กลัวในเรื่องต่างๆ อย่างควบคุมไม่ได้ กินอาหารไม่ลง นอนไม่หลับ มีความคิดวนเวียนอยู่ในเรื่องโทษตัวเอง และวิตกกังวลอย่างแสนสาหัส วนๆ ซ้ำซากอยู่อย่างนั้น อย่างไม่สามารถหลุดออกไปได้ ความทุกข์ท่วมท้นอย่างน่าสงสาร
3. ในโรคอารมณ์แปรปรวน ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนกับโรคซึมเศร้าอยู่ช่วงหนึ่ง และมีอยู่บางช่วงที่มีอาการออกมาในลักษณะตรงกันข้ามกับอาการซึมเศร้า เช่น อารมณ์ดีเบิกบานมากผิดปกติ พูดมาก ขยันมาก เชื่อมั่นตัวเองมากกว่าปกติ ใช้เงินเปลือง เป็นต้น ซึ่งทางการแพทย์เรียกระยะนี้ว่า ระยะแมเนีย ผู้ที่เป็นโรคอารมณ์แปรปรวนบางครั้งจะมีอาการของโรคซึมเศร้า บางครั้งก็มีอาการของภาวะแมเนีย
4. พบบ่อยว่าผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะมีอาการวิตกกังวล ห่วงโน่นห่วงนี่ ซึ่งเป็นอาการหลักของโรควิตกกังวล ที่ต่างกันคือในโรควิตกกังวลนั้น จะมีอาการหายใจไม่อิ่ม ใจสั่น สะดุ้ง ตกใจง่าย ร่วมด้วย อาการเบื่ออาหารถึงมีก็เป็นไม่มาก น้ำหนักไม่ลดลงมากเหมือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และโรคซึมเศร้านั้นนอกจากอาการวิตกกังวลแล้วก็จะพบอาการซึมเศร้า ท้อแท้ เบื่อหน่ายชีวิต ร่วมด้วยโดยที่อาการอารมณ์เศร้านี้จะเห็นเด่นชัดกว่าอาการวิตกกังวล
ที่มา : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ
คลินิกสุขภาพจิตและยาเสพติด
อาคารตึกหลังเก่า (ห้องสุขใจ)
8.00-16.00 น
โทร. 053-795259 ต่อ 279
รายละเอียดเพิ่มเติม
คลินิกสุขภาพจิต :
ให้บริการทุกวันจันททร์-ศุกร์
เวลา 8.00-16.00 น
ผู้เข้าชมเว็ปโรงพยาบาลเทิง: 55